วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

14. บทบาทของนักวิชาการ นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายของรัฐ




  ความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองโลกต่อการเปลี่ยนแปลง

บทบาทของนักวิชาการ นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายของรัฐ

                             เพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการปรับสังคมไทยและพัฒนาคุณลักษณะของประชากรไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ผู้มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักวิชาการ นักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้นำกลุ่มต่างๆในสังคม ล้วนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทาง การส่งเสริมสนับสนุน การให้การศึกษาอบรม การแนะแนวหรือการศึกษาวิจัย และดำเนินการให้เป็นแบบอย่างหรือผลักดันให้คนรุ่นใหม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพราะในสังคมยุคใหม่คุณภาพของคนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการดำรงชีวิต การพัฒนา การประดิษฐ์คิดค้นอันนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของสังคมไทย

1.ปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวรองรับกระแสโลกาภิวัตน์
เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้แข็งและก้าวหน้าพัฒนาต่อไปในกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างน้อยต้องมีปัจจัยต่อไปนี้

                         1)โครงสร้างและระบบที่สอดครับกระแสโลกยุคใหม่ โครงสร้างและระบบต่างๆในสังคมไทย ถูกสร้างมาเพื่อรองรับกรอบความเป็นอยู่ของสังคมอุตสาหกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ระบบบริหาร เป็นต้น เมื่อโลกก้าวเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีข่าวสารซึ่งมีแบบแผนการดำรงชีวิตแตกต่างไปจากที่เคยเป็น ระบบเดิมที่เคยใช้อยู่ย่อมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความล่าช้าในการพัฒนา การถ่วงรั้งหรืออุปสรรคนานัปการ เช่น ระบบราชการไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ทันท่วงที มีความล่าช้าในการตอบสนองความต้องการของประชาชน มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น มีการทำงานซ้ซ้อนไม่ประสานกัน ใช้ทรัพยากรเปลือง ฯลฯ หรือระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตผู้เรียนยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง บุคลากรยังเคยชินกับการเรียนการสอนแบบเดิม เป็นต้น
                          เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบให้สอดคล้องกับสังคมใหม่ หลายประเทศในโลกจึงต้องเร่งรัดผลักดันและดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง ความหายของการปฏิรูป คือ การปรับ เปลี่ยนโครงสร้าง ระบบ และกระบวนการในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และจริงจัง ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จจนสามารถยกตัวเองให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกจากแง่มุมของการแข่งขันเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและพัฒนามานาน เพราะอยู่ในกลุ่มหัวขบวนของการใช้รูปแบบวิธีการของสังคมแห่งการเรียนรู้ในระบบเทคโนโลยีสื่อสารมาก่อน ส่วนประเทศที่มีระดับการพัฒนารองลงไป ในระยะเริ่มแรกมักประสบปัญหาอุปสรรคในกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ ความเคยชินติดยึดกับรูปแบบวิธีทำงานแบบเดิม การสูญเสียผลประโยชน์ หรือทัศนคติต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ความพยายามปฏิรูปด้านต่างๆไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง หรือมีความล่าช้า แก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด หรือผิดทาง ซึ่งกลายเป็นการถ่วงรั้งโอกาสของการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย
สำหรับโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้น ดูจะก้าวหน้าไปรวดเร็วกว่าการดำเนินการภาครัฐ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการต่างๆมีความเป็นอิสระมากกว่าและจำเป็นต้องพึ่งพาระบบสากลอยู่แล้ว จึงสามารถเปลี่ยนไปได้เร็วกว่า ในทำนองเดียวกันโครงสร้างแลละระบบสังคมวัฒนธรรมซึ่งปลอดจากการกำกับของรัฐ ทำให้ผ็คนหันมาดำรงชีวิตตามกระแสสากลมากขึ้นแต่ไร้ทิศทาง เช่น เข้าสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยมและวัตถุนิยมอย่างรวดเร็วซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อเอกลักษณ์ ค่านิยม และวิถีชีวิตแบบไทยอย่างมาก

2) ระบบการเรียนรู้ที่กว้างขวางและครอบคลุม สังคมยุคใหม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หมายความว่า แต่ละสังคมต้องจัดวางระบบให้ประชากรสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ได้อย่างสะดวก ซึ่งเทคโนโลยีข่าวสารปัจจุบันเอื้อให้เกิดได้อยู่แล้ว จึงเป็นภาระที่รัฐและหน่วยงานต่างๆต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและทั่วถึงในสังคมไทย
                          สำหรับการให้การศึกษาอย่างเป็นทางการแบบเดิมทั้งในระดับพื้นฐานและในระดับอุดมศึกษาโดยผ่านสถาบันการศึกษาที่รัฐจัดให้อย่างเป็นทางการนั้น กำลังถูกแทนที่หรือเสริมเติมโดยหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันข้ามชาติ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษาอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นเพราะรัฐไม่สามารถจัดสรรงบปราณสนับสนุนได้เพียงพอเนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายทางอื่นเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการในระดับอุดมศึกษาจึงถูกโอนให้เป็นภาระของผู้เรียนหรือครอบครัว ดังกรณีการจัดระบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการตัดทอนงบประมาณสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นต้น
ทั้งนี้การพัฒนาระบบต้องเป็นไปพร้อมกับการพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ของประชากรด้วย

3) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมโยงกับระบบสากล สังคมฐานความรู้จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทันสมัย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้และการใช้งาน ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของตนอย่างจริงจังโดยมีการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง การใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการนำเสนอทางเลือกและการตัดสินใจ และการติดตามประเมินผล การพัฒนาระบบดังกล่าวจึงครอบคลุมไปถึงการจัดระบบโครงสร้างเพื่อการสื่อสารและโทรคมนาคมที่รวดเร็ว มีการเชื่อมโยงกับระบบสากล มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องมือ สื่อ อุปกรณ์สารสนเทศเพื่อการเก็บ ประมวล การสืบค้น และส่งต่อข้อมูล รวมไปถึงทัศนคติของประชากรที่ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาข้อมูลเพื่อประโยชน์ของการวิเคราะห์และการตัดสินใจ

4) กำลังคนที่มีคุณภาพ สังคมที่เข้มแข็งต้องมีกำลังคนที่มีปริมาณเหมาะสมและมีคุณภาพ กำลังคนที่มีคุณภาพ หมายถึง คนที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพยุคใหม่ เป็นคนใฝ่รู้ และมีความสามารถในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพตามคุณลักษณะของคนยุคใหม่ดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ในโลกยุคใหม่คุณภาพมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญของการแข่งขันระหว่างประเทศ กล่าวคือ คุณภาพของคนในการประดิษฐ์คิดค้นดัดแปลง การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมออุปกรณ์ในระบบการทำงานยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อการส่งออกและรายรับของประเทศ

                     2.บทบาทของนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบาย
                     เพื่อพัฒนาระบบ โครงสร้าง สภาพแวดล้อม และปัจจัยที่เหาะสมสำหรับการเผชิญโลกาภิวัตน์อย่างมีประสิทธิภาพ บรรดานักวิชาการ นักวิชาการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายควรมีบทบาท ดังนี้

                    1) ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ทั้งในภาพรวมและในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย การศึกษานี้ครอบคลุมทั้งในแง่ของการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ความเป็นมาและผลของโลกาภิวัตน์จากแง่มุมของศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่ต่อประเทศไทย
                     2) ศึกษาความพร้อมและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของประเทศไทยในการเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์ การศึกษาเรื่องโลกาภิวัตน์มิได้จำกัดเพียงประโยชน์เชิงวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการวิเคราะห์ในรายละเอียดของแต่ละประเด็น แต่ละพื้นที่ แต่ละกิจการ และแต่ละกลุ่มประชากรที่จะได้รับผลซึ่งต้องการนักวิชาการจากต่างสาขาวิชาช่วยกันหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์หรือข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการโดยฝ่ายนโยบายหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
                     3) ศึกษาเปรียบเทียบประสบการณ์ของประเทศต่างๆที่ต้องเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์ การศึกษาประสบการณ์ของโลกาภิวัตน์ในประเทศหรือกลุ่มสังคมต่างๆนอกประเทศ ซึ่งฒ๊ผู้ศึกษาวิเคราะห์รวบรวมมาแล้ว จะช่วยให้บทเรียนสำหรับการดำเนินการในประเทศไทย ถึงแม้จะมีบริบทต่างกันก็ตาม จึงเป็นภาระที่นักวิชาการควรให้ความสนใจรวบรวม และนำเปรียบเทียบกับสภาวการณ์ในประเทศ เพื่อสร้างความตื่นตัวสำหรับกลุ่มประชากรที่จะได้รับผลกระทบและหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น
                      4) เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ในลักษณะต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลต่อสังคมไทย เป็นหัวข้อสำคัญที่นักคิดนักวิชาการจำเป็นต้องมีส่วนรับผิดชอบในการเผยแพร่อย่างกว้างขวางไปยังกลุ่มคนที่จะได้รับผล รวมทั้งเผยแพร่ให้นักศึกษาได้รับทราบเพื่อสร้างความตระหนักและความสนใจวิเคราะห์เหตุการณ์ อันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเกิดความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์ที่จะเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมีประสิทธิภาพ
                      5).ให้ข้อเสนอแนะทั้งเชิงนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และมาตรการดำเนินการที่เหมาะสม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของโลกาภิวัตน์ และผลกระทบที่เกิดหรือน่าจะเกิดต่อประเทศไทยย่อมช่วยให้นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายสามารถคาดการณ์และกำหนดยุทธศาสตร์หรือแนวทางปฏิบัติให้ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้น
วิชาโลกาภิวัตน์จึงเป็นวิชาจำเป็น สมควรได้รับการวิเคราะห์ต่อเนื่อง  มีการวิจัยและสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้เผยแพร่หรือประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม
                        สำหรับนักศึกษาซึ่งเป็นวิชาการด้านการศึกษาและมีหน้าที่อบรมสั่งสอนผู้อื่น นอกจากจะต้องให้ความสนใจติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และโลกาภิวัตน์ศึกษาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของโลกาภิวัตน์ที่ต่อผู้เรียนรู้และระบบกาศึกษาของไทย ข้อมูลและผลวิเคราะห์ที่ได้มาจะช่วยให้แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนการสอนระดับต่างๆในประเทศได้อย่างเหาะสม และในฐานะนักการศึกษาก็จำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบเพื่อประโยชน์ของการนำความรู้ไปประยุกต์ให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป



........................................................................
คำถามท้ายบทเรียน
1.จงบอกถึงปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการปรับตัวรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ว่ามีอะไรบ้าง
2.จงบอกถึงบทบาทของนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบ โครงสร้าง สภาพแวดล้อม และปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับเผชิญโลกาภิวัตน์อย่างมีประสิทธิภาพว่ามีอะไรบ้าง
.................................................................................
แหล่งที่มา :  SO ๒๑๓๘      พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์

โดย : พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ ธีรานันทางกูร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น