วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

2. พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์




 กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก


สังคมโลกกับการเปลี่ยนแปลง
                 ในสัปดาห์นี้จะได้กล่าวถึงเรื่อง ”กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก” ทั้งนี้โดยมีสาระครอบคลุมหัวข้อย่อย คือ สังคมโลกกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะได้ทำการแจกแจงในรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.สังคมโลกในยุคแรก
               โลกก่อตัวเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว หลังจากเย็นตัวลงจนเกิดสภาวะที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิต โลกได้กลายเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์และพืชนานาชนิด ก่อนที่สิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายมนุษย์ถือกำเนิดขึ้น และพัฒนาการมาจนเป็นมนุษย์ที่ครอบครองโลกดังเช่นที่เป็นอยู่
               จากการที่มนุษย์ถือกำเนิดมาและมีชีวิตอย่างเป็นอิสระตามลำพัง ในเวลาต่อมามนุษย์ได้รวมตัวกันเป็นกลกลุ่มก้อน จากจำนวนไม่กี่คนจนขยายตัวเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อประโยชน์ของความอยู่รอด และต่อมาวิวัฒนาการของมนุษย์ได้นำไปสู่สภาพสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม จนกลายเป็นสังคมโลกซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากกระแสโลกาภิวัตน์ ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไปนี้

2.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคเร่ร่อน
                สังคมโลกได้พัฒนามาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยร่องรอยของมนุษย์ปรากฏในบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกาและเอเชียกลาง
                ในช่วงเริ่มแรกของมนุษยชาติ มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอด จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ แต่ปักหลักปักฐานแน่นอน เนื่องจากต้องตระเวนเดินทางไปตามแหล่งที่มีสัตว์ให้ล่า ส่วนใหญ่มนุษย์มักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำและพืชซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของสัตว์ การเดินทางของมนุษย์กลุ่มต่างๆยุคแรกกระจายไปทุกทิศทาง จนเข้าสู่ทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
ช่วงยุคนี้อาจถือว่าเป็นยุคเถื่อนซึ่งความแข็งแรงของร่างกาย คือ อำนาจ

3. สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง
               จากกลุ่มชนเร่ร่อนดังกล่าว ในระยะเวลาต่อมา คือ ประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อนปัจจุบัน มนุษย์ได้พัฒนาความสามารถในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลเพื่อการบริโภคและใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง จึงเริ่มตั้งชุมชนที่แน่นอนขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณใกล้แหล่งน้ำสำคัญต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ส่วนการล่าสัตว์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเดิมมีความจำเป็นรองลงไป
                การที่มนุษย์สามารถลงหลักปักฐานมีแหล่งพำนักที่แน่นอน ผูกพันกับผืนดินซึ่งพวกเขาหว่านไถพรวนและปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคและใช้งาน เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องขึ้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรม เป็นอารยธรรมซึ่งมีพื้นฐานจากเกษตรกรรม อารยธรรมนี้ส่งผลต่อรูปแบบการผลิต การจำหน่าย การดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ครอบครัว การเมืองกาปกครอง และระบบสังคมซึ่งมีการแบ่งช่วงชั้นและแบ่งภารกิจหน้าที่ของกลุ่มคนต่างๆอย่างชัดเจน

4.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในแหล่งอารยธรรมต่างๆ
                ช่วงเวลาของการสร้างอารยธรรมในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกมิได้เกิดพร้อมกัน และมิได้พัฒนาไปในอัตราเดียวกัน แต่ละพื้นที่และละกลุ่มชนมีระดับและรูปแบบของการพัฒนาแตกต่างกันไป
               การที่เกษตรกรรมสามารถตอบสนองความต้องการอาหารเลี้ยงชีวิตสำหรับผู้คนจำนวนมากได้โดยไม่ต้องพึ่งกำลังคนทั้งหมดของชุมชน ทำให้เกิดสังคมส่วนเกิน จึงมีการจัดสรรหน้าที่สำหรับชุชน ได้แก่ หน้าที่ในการป้องกัน การปกครอง งานฝีมือ และแรงงานต่างๆ ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง เกิดอารยธรรมสำคัญตามแหล่งต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมสุเมเรีย เมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์ลุ่มแน่น้ำไนล์  อารยธรรมลุ่มน้ำฮวงโหในจีน อารยธรรมสินธุในอินเดีย เป็นต้น
              อาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการทางเกษตรกรรมเป็นกระแสคลื่นลูกที่หนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์อย่างสำคัญ

5.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรม
               อย่างไรก็ดี การก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมเป็นเพียงขั้นตอนของพัฒนาการในสังคมโลก ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ชุมชนเองขยายตัวมากขึ้น ความต้องการทางวัตถุในด้านต่างๆมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันการเรียนรู้ของมนุษย์มิได้หยุดอยู่กับที่ มนุษย์ได้พัฒนาความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกระดับหนึ่งที่สำคัญ เรียกกันว่าปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ ผลผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและสมาชิกในสังคมเป็นจำนวนมาก ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดความต้องการวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน ขณะเดียวกันโรงงานสามารถผลิตสินค้าเกินความต้องการในประเทศ จึงต้องการหาตลาดนอกประเทศเพื่อระบายสินค้า สถานการณ์นี้นำไปสู่ความจำเป็นในการขยายขอบเขตอำนาจของประเทศอุตสาหกรรม พร้อมกับการขยายขอบเขตการค้า เกิดการแพร่กระจายวัฒนธรรมและการครอบงำทางการเองตามไปด้วย  จนประเทศมหาอำนาจในยุโรปกลายเป็นสังคมมั่งคั่ง

6.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคลัทธิพาณิชยนิยม(Mercantilism) และลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) 
               เมื่อสังคมอุตสาหกรรมพัฒนาอย่างรวดเร็ว ความต้องการวัตถุดิบเพื่อตอบสนองผู้บริโภคในประเทศนำไปสู่การแสวงหาทรัพยากรจากอาณาบริเวณอื่นนอกเหนือจากสังคมอุตสาหกรรมในยุโรป จนก่อให้เกิดลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) และลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)  เพื่อแสวงหาและครอบครองอาณานิคมในบริเวณซึ่งชาวยุโรปเห็นว่าเป็นดินแดนเถื่อน หรือดินแดนของอนารยชน ในขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์ในช่วงเริ่มต้นก็แผ่เข้าไปจากความพยายามยัดเยียดลัทธิความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตและอารยธรรมแบบตะวันตกให้ผู้คนในประเทศที่อยู่ห่างไกลศูนย์ความเจริญอย่างยุโรปได้ถือปฏิบัติตาม
                การปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้า ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แตกต่างไปจากสังคมเกษตรกรรมเดิม โดยประชากรในชนบทได้หลั่งไหลเข้าไปหางานทำและประกอบอาชีพในเมืองมากขึ้น ทำให้เมืองชายตัว และพื้นที่เมืองก็เพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาใหม่ๆของสังคมอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาแรงงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาความแออัด ฯลฯ
ในสังคมดังกล่าว ระบบทุนนิยมกลายเป็นเศรษฐกิจกระแสหลัก จนต่อมาเกิดกระแสตอบโต้โดยระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ

7.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม
               สังคมอุตสาหกรรมได้แบ่งผู้คนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค และฐานะของประชากรในสังคมถูกกำหนดโดยฐานะทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในขณะที่บางสังคมยังยึดติดกับการผลิตทางเกษตรกรรม สังคมที่พัฒนาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้ก้าวเข้าสู่รูปแบบใหม่ของการดำรงชีวิตอย่างรวดเร็ว จนทำให้สภาพทางสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนเองแตกต่างจากสังคมเกษตรกรรมเดิมอย่างสิ้นเชิง
               สังคมอุตสาหกรรมไม่เหมือนสังคมเกษตรกรรมอีกต่อไป เพราะได้กลายเป็นสังคมวัตถุนิยม(Materialism) แบบบริโภคนิยม (Consumerism) ที่มีความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ในระยะต่อมาประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้กลายเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแตกต่างจากสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ยังพึ่งการผลิตทางการเกษตร และปรับเปลี่ยนช้าจนกลายเป็นสังคมด้วยพัฒนา ส่วนสังคมเกษตรกรรมที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้รับการขนานนามว่าสังคมของประเทศกำลังพัฒนา แต่ต้องแลกด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อมอันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960

8.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคพัฒนาการของการคมนาคมขนส่ง
               พัฒนาการของการคมนาคมขนส่ง ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการค้าขายระหว่างประเทศ ประกอบกับความต้องการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศที่สูงขึ้น นำไปสู่การติดต่อเชื่อโยงระหว่างดินแดนต่างๆทั่วโลกมากว่าที่เคยเป็นไปในยุคสังคมเกษตรกรรม โดยในชั้นแรกผลของการพัฒนาความสามารถในการเดินทาง โดยเฉพาะทางทะเล ตามมาด้วยการขนส่งทางอากาศ ทำให้การติดต่อค้าขายระหว่างสังคมต่างๆเป็นไปอย่างใกล้ชิดมากขึ้นมีปริมาณการขนส่งมากขึ้น
              การติดต่อข้ามเขตพรมแดนของรัฐโดยประชากรชาติต่างๆก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 20 ต้องสะดุดลงหลายครั้งจากสงครามโลกสองครั้ง ตามด้วยสงครามเย็นและสิ้นสุดลงที่ความล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1992 สังคมโลกเริ่มปลอดภัยจากการเผชิญหน้าระหว่างสองอภิหาอำนาจ โลกซึ่งเคยถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วตามลัทธิความเชื่อ(ประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์) โดยประเทศต่างๆแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม (ส่วนกลุ่มเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมีจำนวนน้อย) ได้สิ้นสุดลง

9.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลังสงครามเย็น
               หลังสงครามเย็น สังคมอุตสาหกรรมต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และระบบโทรคมนาคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงแบบแผนการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนในโลกอย่างกว้างขวาง รุนแรง และรวดเร็ว
               ในขณะที่สังคมอุตสาหกรรมดำเนินไป พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังก้าวรุดหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประเด็นของการพัฒนาที่เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ซึ่งนำไปสู่รูปแบบใหม่ของการทำงานและการสื่อสารระหว่างมนุษย์ จนกล่าวขานกันว่าเป็นการปฏิรูปกระแสสำคัญที่เปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต การทำงาน และการประกอบอาชีพแทบทุกด้านอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผลของการพัฒนาดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงทุกสังคมบนโลกไปอย่างกว้างขวาง โลกได้เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชุมชนและมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป สังคมโลกจะมีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว

10.สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลังอุตสาหกรรม
                อันที่จริงก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 นักวิชาการได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัวและเริ่มกล่าวถึงสังคมยุคหลังอุตสาหกรรม (Post-industrial world) หรือสังคมหลังสภาวะทันสมัย (Post-modernization) มากขึ้นทุกที (ดูตัวอย่างจากหนังสือเรื่อง Post-Industrial Lives : Roles and Relationships in the 21th Century และหลายบทความเกี่ยวกับสังคมหลังสภาวะทันสมัยในหนังสือชื่อ The Cultural Reader) การวิเคราะห์ว่าสถานะความเป็นมนุษย์ บทบาทของมนุษย์ในสังคม และลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะมีความสลับซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นมาในสมัยสังคมอุตสาหกรรม
               นักคิดและนักวิชาการซึ่งสังเกตพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ได้เสนอแนะแนวคิดคล้ายๆกันเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต ดังตัวอย่างผลงานสามเล่มของแอลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) ได้แก่  เรื่อง Future Shock  (ค.ศ. 1978)  The Third Wave (ค.ศ.1980) และ Power Shift (ค.ศ.1990)
                ในหนังสือเล่มแรก ทอฟเล่อร์กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลก และพาดพิงถึงพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่ แต่แนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์มาปรากฏชัดเจนขึ้นในหนังสือเล่มที่สอง (คลื่นลูกที่สาม) ซึ่งทอฟเลอร์ได้แบ่งพัฒนาการในสังคมโลกออกเป็นสามกระแส กระแสแรกคือสังคมเกษตรกรรม ซึ่งมีรูปแบบวิถีการดำรงชีวิตอันส่งผลต่อโครงสร้างระบบการเมืองเศรษฐกิจสังคมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อสังคมอุตสาหกรรมเข้าแทนที่ วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ดังกล่าวก็เปลี่ยนไป จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พัฒนาการของเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศ และระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำให้รูปแบบและโครงสร้างของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป ในแง่นี้ทอฟเลอร์เห็นว่าสังคมโลกยุคใหม่ได้เข้าสู่สังคมเทคโนโลยีข่าวสาร หรือที่หลายคนเรียกต่างๆกัน เช่น สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมดิจิทัล เป็นต้น และในสังคมที่เปลี่ยนไปนี้ ฐานอำนาจเดิมในสังคมเดิมก็ถูกกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงฐานอำนาจไปจากเดิมอย่างรุนแรง ดังรายละเอียดที่สามารถอ่านได้จากหนังสือเรื่องการเปลี่ยนอำนาจ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่สามของทอฟเลอร์
สรุปความได้ว่า สังคมของมนุษย์หลังจากที่เกิดและพัฒนามาในโลกนี้แล้ว ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงตามยุคต่างๆ ดังนี้ คือ 1)สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคเร่ร่อน,  2)สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง,  3)โลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง,  4)โลกเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรม,  5)โลกเปลี่ยนแปลงในยุคลัทธิพาณิชยนิยม และลัทธิจักรวรรดินิยม ,6)สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม,7) สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคพัฒนาการของการคมนาคมขนส่ง, 8)สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลังสงครามเย็น, และ 9)สังคมโลกเปลี่ยนแปลงในยุคหลังอุตสาหกรรม

.............................................................................

คำถามท้ายบทเรียน

1.) สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงในในยุคลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) และลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)  อย่างไรบ้าง
2.) จงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคหลังสงครามเย็น (Post-Cold War) และในยุคหลังอุตสาหกรรม  (Post-industrial world)
------------------------------------------------------

แหล่งที่มา :  SO ๒๑๓๘      พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์
โดย : พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ ธีรานันทางกูร

1 ความคิดเห็น: