ความสัมพันธ์และผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลกและมนุษย์
-ผลกระทบต่อโครงสร้างความมั่นคงและระบบการเมืองโลก
พัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างยุคเกษตรกรรมกับยุคอุตสาหกรรม
คือ การกำเนิดของระบบรัฐชาติในคริสต์ศตวรรษที่ 15
ระบบรัฐชาตินำไปสู่การแบ่งเส้นเขตแดน มีการกำหนดกลุ่มประชากรตามสัญชาติแยกระหว่างกันอย่างชัดเจน
แต่ละรัฐชาติมีอำนาจอธิปไตย
และมีอำนาจในการปกครองตนเองอย่างเด็ดขาดปลอดจากการแทรกแซงของรัฐชาติอื่น
แนวคิดเรื่องรัฐชาตินี้ต่อมาก็ได้ขยายไปยังสังคมอื่นๆทั่วโลก
ซึ่งสะท้อนกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16-17 เป็นต้นมา
อันที่จริงแนวคิดเรื่องรัฐชาตินี้สะท้อนกระแสแรกเริ่มของโลกาภิวัตน์แล้ว
แต่เป็นไปในขอบเขตจำกัด กล่าวคือ
ในแต่ละรัฐชาติถึงแม้ประชากรจะมีความแตกต่างกันหลากหลายตามชาติพันธุ์และวัฒนธรรมแต่ผู้ปกครองต้องการให้ประชากรมีความเชื่อ
ค่านิยม ภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแนวเดียวกัน
เพื่อสร้างความผูกพันและความจงรักภักดีต่อชาติ
แนวคิดที่จะให้เกิดแนวปฏิบัติทำนองเดียวกันดังกล่าว
ในระยะต่อมาก็ได้ขยายตัวข้ามขอบเขตดินแดนรัฐอธิปไตยออกไปกว้างขวางมาก
จนครอบคลุมประชาคมระดับภูมิภาคและระดับโลกกลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ดังเช่นปัจจุบัน
ในขณะที่รัฐชาติเองเป็นตัวการส่งเสริมให้เกิดการผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศมหาอำนาจต่างๆที่มีพลังสนับสนุนทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ
และการทหาร
โดยรัฐเล็กในฐานะผู้รับมีส่วนในการเลือกหรือจำกัดการเข้ามาของกรแสโลกาภิวัตน์
แต่ทุกรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐใหญ่หรือรัฐเล็กก็ได้รับผลดีผลเสียจากโลกาภิวัตน์โดยถ้วนหน้า
ถึงแม้จะได้รับไม่เท่ากันก็ตาม
ในแง่การเมืองตัวแสดงสำคัญในสังคมโลกน่าจะมีอย่างน้อย
4 กลุ่มใหญ่
กลุ่มแรก
ได้แก่ บรรดาองค์การการเมืองเหนือชาติ (Supranational
political bodies) องค์การระหว่างประเทศทั้งที่รัฐเป็นสมาชิกหรือที่สมาชิกประกอบด้วยบุคคลในวงวิชาชีพเฉพาะ
สมาคมหรือองค์กรเอกชน
กลุ่มที่สอง
เป็นกลุ่มภายในชาติซึ่งสามารถดำเนินการที่มีอิทธิพลต่อรัฐชาติของตัวเอง ประเทศอื่น
หรือองค์การอื่นๆนอกขอบเขตพรมแดน เช่น องค์การซึ่งมิใช่รัฐภายในชาติ กลุ่มวิชาชีพ
ขบวนการซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน องค์การธุรกิจ ฯลฯ
กลุ่มที่สาม
คือ กลุ่มหรือองค์การซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองระดับสากลหรือภูมิภาค เช่น
บรรษัทข้ามชาติ และ
กลุ่มสุดท้าย
ได้แก่ รัฐชาติเอง
สำหรับองค์การทางการเมืองเหนือชาติมีบทบาทที่ส่งผลต่อรัฐชาติอย่างน้อย
4 ทาง
ทางแรก
เป็นกรณีที่รัฐชาติตกลงยินยอมให้องค์การใช้อำนาจในบางกรณี เช่น
เข้าไปช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยจากความรุนแรงภายในประเทศ หรือกรณีที่รัฐยอมผ่อนปรนอำนาจอธิปไตยของดินแดนโดยให้ความร่วมมือแก่องค์การตำรวจสากล
(Interpol)ในการต่อสู้กับอาชญากรรมบางประเภท เป็นต้น
ทางที่สอง
เป็นกรณีที่รัฐชาติที่เป็นสมาชิกยอมปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์การข้ามชาติ เช่น
สมาชิกของสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบบางอย่างที่สภายุโรปกำหนดถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดบางเรื่องก็ตาม
หรือตัวอย่างกรณีของรัฐสมาชิกในองค์การการค้าโลก ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ขององค์การ
ทางที่สาม
เป็นกรณีสถานการณ์จำยอมของรัฐที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจหรือการเมืองยอมให้องค์การเหนือชาติใช้อำนาจภายในในรัฐของตนได้
เช่น ยอมให้องค์การเหนือชาติส่งกองกำลังเข้าไปดูแลรักษาความสงบ
หรือต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขขององค์การเหนือชาติ เช่น กรณีลูกหนี้ของธนาคารโลก
หรือองค์การกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเรารู้จักกันดีในนามขอไอเอมเอฟ (International
Monetary Fund)
ทางที่สี่
เป็นกรณีที่รัฐชาติยอมจำกัดอำนาจของตนจากผลของการลงนามในสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งมีผลบังคับทางกฎหมายเมื่อรัฐนั้นให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว
หรือแม้ในบางกรณีสนธิสัญญาอาจไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย
แต่ส่งผลทางศีลธรรมซึ่งรัฐไม่อาจละเมิดได้ เช่น
ข้อตกลงหลายเรื่องขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น
ในกรณีเหล่านี้รัฐก็ต้องยอมถือปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวด้วย
สถานการณ์ต่างๆดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อจำกัดการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งในช่วงแรกเริ่มกำเนิดรัฐชาตินั้น
เคยเชื่อกันว่ารัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยที่ไม่อาจละเมิดได้
แต่ในกระแสโลกาภิวัตน์ความจำเป็นบังคับให้รัฐชาติต้องยอมผ่อนปรนการใช้อำนาจเด็ดขาดของตนลงไปมากทุกขณะ
นอกเหนือจากองค์การเหนือชาติแล้วบทบาทของรัฐยังถูกจำกัดหรือลิดรอนโดยตัวแสดงอื่นๆทั้งในชาติและระหว่างประเทศด้วย
อาทิ การรวมตัวกันของกลุ่มคนภายในประเทศเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน
โดยส่วนใหญ่มักมีกลุ่มบุคคลหรือองค์การจากภายนอกนอกประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือด้วย
หรือองค์การธุรกิจที่เข้ามาลงทุนภายในประเทศได้ตั้งเงื่อนไขหรือดำเนินการที่ส่งผลต่ออำนาจของรัฐบาลในบางประเทศ
เป็นต้น
จอร์ชจึงสรุปว่าในปัจจุบันรัฐชาติจำเป็นต้องผ่องถ่ายอำนาจหรือแบ่งปันอำนาจให้แก่องค์การเหนือชาติและองค์การภายในชาติ
ซึ่งส่งผลให้ให้ตัวแสดงอื่นนอกจากรัฐชาติเข้ามามีบทบาทใช้อาจอธิปไตยแทนรัฐในการกำหนดค่านิยมหรือวิถีปฏิบัติสำหรับคนในขอบเขตพรมแดนของตน
ยิ่งกระแสโลกาภิวัตน์มีความเข้มข้นรุนแรงมากเท่าไหร่อำนาจอธิปไตยของรัฐและอำนาจของรัฐบาลย่อมถูกบั่นทอนลงไปเท่านั้น
ในสังคมยุคใหม่ของศตวรรษที่ 21
องค์การเหนือชาติมีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ
ไม่เพียงแต่ในด้านการกำหนดนโยบายเรื่องต่างๆที่รัฐชาติต้องยอมเคารพปฏิบัติแต่ยังเข้าแทรกแซงในกิจการซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นกิจการภายในของรัฐมากขึ้นในลักษณะต่างๆดังกล่าวแล้ว
องค์การเหนือชาติสำคัญที่มีบทบาทต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
จะยังคงมีส่วนสำคัญในการกดดันประเทศที่ไม่ยอมเคารพสิทธิมนุษยชน
หรือประเทศที่มีปัญหาในการบริหารงานรัฐอย่างมาก
โดยองค์การข้ามชาติสามารถชักชวนมิให้ประเทศร่ำรวยสนับสนุนรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามครรลองปฏิบัติสากลในเรื่องสิทธิมนุษยชน
การใช้แรงงานเด็ก การทุจริตประพฤติมิชอบ การละเลยสุขอนามัยของประชาชน
หรือการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนรวมทั้งชักชวนบรรดาประเทศสมาชิกมิให้ติดต่อค้าขายหรือสนับสนุนประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ในสถานการณ์ที่โลกปลอดจากสภาวะการแบ่งขั้วซึ่งประเทศมหาอำนาจและบริวารต้องสนับสนุนประเทศบริวารของตน
องค์การเหนือชาตินับวันจะมีบทบาทเข้มแข็งและให้ผลชัดเจนกว่าที่เคยเป็นอยู่ในระยะแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
นอกจากองค์การเหนือชาติดังที่กล่าวแล้ว
องค์การเหนือชาติสำคัญอีกสององค์การซึ่งสามารถกำหนดเงื่อนไขและแทรกแซงการตัดสินใจของแต่ละประเทศด้วยเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่เลี่ยงไม่ได้
คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
และธนาคารโลก( ดูรายละเอียดใน Robert M. Page, “Globalization, Risk and Social Welfare”,
in George, หน้า 29-44)
เดิมบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
คือ
การให้เงินกู้แก่ประเทศที่เตรียมปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบการส่งออก๖แทนที่จะเน้นระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง)
เพื่อชดเชยภาวการณ์ขาดดุลการค้าในระยะแรก
ส่วนธนาคารโลกมีบทบาทในการปรับโครงสร้างและพัฒนาประเทศโลกที่สามหรือเรียกระยะหลังว่าประเทศกำลังพัฒนา
ในช่วงแรกทั้งสององค์การนี้มักไม่กล้าเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศผู้รับบริการ
รวมทั้งไม่แตะต้องนโยบายหรือทิศทางการเมืองของประเทศดังกล่าว
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา
ถึงแม้พันธกิจของทั้งสององค์การจะยังเป็นไปดังที่เคยถือปฏิบัติ แต่บทบาทด้านการดำเนินการขององค์การดังกล่าวได้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยกล้ากำหนดเงื่อนไขและกดดันประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น
มีการตั้งเกณฑ์ กติกา
เงื่อนไขและเข้ากำกับการดำเนินการของประเทศที่เป็นลูกหนี้โดยตรง ตัวอย่างเช่น
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เม็กซิโกและประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาหลายประเทศต้องตัดลดงบประมาณรายจ่ายสาธารณะลงเป็นจำนวนมาก
และต้องปรับโครงสร้างโครงการหลายโครงการ ผลคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัย
การศึกษา การขจัดความยากจน ถูกวิพากษ์ว่าไม่ได้ผลและสิ้นเปลือง
จนต้องลมเลิกหรือปรับลดลงไป เงื่อนไขข้อกำหนดเช่นนี้ จากแง่มุมการเมืองยุครัฐชาติเดิมถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอย่างชัดเจน
แต่องค์การเหนือชาติปัจจุบันกลับใช้อำนาจนี้โยรัฐบาลอธิปไตยซึ่งเป็นผู้ขอความช่วยเหลือจำยอมต้องปฏิบัติตาม
อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงบบาทขององค์การข้ามชาติ
คือ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
องค์การนี้ได้ยึดแนวทางของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้า
แต่ในระยะต่อมาได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของชาติต่างๆกำหนดระบบการค้าโลกโดยวางกลไกการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิผล
กำหนดกลไกทบทวนนโยบายการค้า และกำหนดประมวลปฏิบัติที่มีผลบังคับ
เท่ากับนำแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางการค้ามากดดันให้ทุกประเทศคู่ค้าต้องยึดถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน
กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการสะทอนกระแสโลกาภิวัตน์ในสังคมโลกได้อีกกรณีหนึ่ง
นอกเหนือจากกรณีลักษณะอื่นๆ เช่น การรวมตัวกันของหลายประเทศเพื่อเข้าแทรกแซงกิจการภายในโดยตรง
ตัวอย่างเช่นการส่งกองกำลังหรือยุทธปัจจัยเข้าไปสนับสนุนปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลในประเทศอิรัก
ลิเบีย อัฟกานิสถาน หรือเข้าไปรักษาความสงบในอีกหลายประเทศ เช่น โซมารเลีย เป็นต้น
นอกเหนือจากองค์การการเมืองเหนือชาติแล้ว
ในเวทีสังคมโลกยังมีตัวแสดงสำคัญอื่นๆอีก
ซึ่งมีบทบาทผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในต้นศตวรรษที่ 21
มีองค์การที่มิใช่รัฐบาลในระดับระหว่างประเทศคำนวณกว่า 40,000 องค์การ
เมื่อเทียบกับ 6,000 องค์การเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนหน้านั้น หลายองค์การในจำนวนนี้เป็นองค์การขนาดใหญ่
มีทุนสนับสนุนมหาศาลเช่น
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 องค์การ CARE International มีงบประมาณ 586 ล้านเหรียญ องค์การ World Vision International มีงบประมาณ 419 ล้านเหรียญ เป็นต้น
องค์การเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นองค์การทางสังคมซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
แต่ก็มีบทบาทกดดันรัฐบาลของประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือหรือแม้แต่กดดันองค์การระห่างประเทศภาครัฐ
(International Governmental Organizations) ด้วย
ซึ่งจะเห็นได้ได้ว่าบ่อยครั้งองค์การเหล่านี้ได้รับเชิญจากองค์การระหว่างประเทศภาครัฐให้เสนอแนะในกิจการที่เกี่ยวข้อง
เช่น สิทธิมนุษยชน
ความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาสังคม
บางองค์การซึ่งแม้มีทรัพยากรน้อยกว่าที่ยกตัวอย่างข้างต้นยังเข้ามามีบทบาทดำเนินการซึ่งถือได้ว่าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
เช่น องค์การกรีนพีช (Greenpeace)
ซึ่งได้รับการจัดตั้งใน ค.ศ. 1971 มีสมาชิกกว่าสี่สิบประเทศ
เน้นการปกป้องสภาวะแวดล้อม และดำเนินการข้ามชาติ เช่น
เคยปิดล้อมหรือรบกวนเรือชาติอื่นที่จับปลาวาฬในมหาสมุทร เป็นต้น
......................................................................
กิจกรรมท้ายบทเรียน
1. ตัวแสดงสำคัญในสังคมโลกมี 4 กลุ่ม
คืออะไรบ้าง จงบอกมาอย่างละเอียด
2. จงกล่าวถึงบทบาทของ องค์การค้าโลก (World
Trade Organization) และองค์การกรีนพีช (Greenpeace) ในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นว่าเป็นอย่างไรบ้าง
------------------------------------------------------
แหล่งที่มา
: SO ๒๑๓๘ พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์
โดย
: พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ ธีรานันทางกูร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น