วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

13. คิดเป็นสากลในบริบทชองไทยและคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับคนยุคใหม่


 ความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองโลกต่อการเปลี่ยนแปลง


คิดเป็นสากลในบริบทชองไทยและคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับคนยุคใหม่

                       ในสัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่อง “ความรับผิดชอบของคนไทยในฐานะพลเมืองโลกต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์กับสังคมไทย คิดให้เป็นในบริบทของไทย” โดยครอบคลุมหัวข้อย่อย 2 เรื่อง คือ 1) คิดให้เป็นตามบริบทของไทย และ 2) คุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับคนไทยยุคใหม่ ดังจะได้อธิบายในรายละเอียดดามลำดับ ดังนี้

                 1.คิดให้เป็นสากลในบริบทของไทย
มนุษย์ในโลกมีลักษณะทั่วไปของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน คือ มีรูปร่างที่แตกต่างจากสัตว์ มีความต้องการปัจจัยดำรงชีวิตพื้นฐานคล้ายกัน มีความรู้สึกนึกคิดหรือสัญชาตญาณทำนองเดียวกัน แต่หากพิจารณาในรายละเอียดมนุษย์มีความแตกต่างกันมากมายทั้งในแง่ชาติพันธุ์ รูปพรรณสัณฐาน ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ลัทธิความเชื่อ ค่านิยม สถานะทางสังคม ลักษณะความสัมพันธ์ในกลุ่ม ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการ ตลอดจนโครงสร้างทางอำนาจ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแต่ละกลุ่มสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ถึงแม้กระแสลาภิวัตน์จะมุ่งสร้างความเหมือนระหว่างมนุษย์ โดยขจัดสิ่งกีดขวางความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มสังคม แต่ผลของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละสังคมรัฐและสังคมท้องถิ่น
                    ขอบเขตสำคัญที่มนุษย์ยังคงยึดถือ คือ ขอบเขตอาณาทางวัฒนธรรมของตนเองเนื่องจากสภาพแวดล้อม ความเคยชิน ธรรมเนียมปฏิบัติและความผูกพันของคนที่เคยอยู่ร่วมกันมาใกล้ชิด ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ยังไม่สามารถปล่อยวางได้ ดังนั้นถึงแม้โลกาภิวัตน์จะนำวิถีชีวิตใหม่ๆเข้ามา แต่คนในแต่ละสังคมยังไม่อาจปลดตัวเองจากค่านิยมวิถีชีวิตแบบเดิมๆได้อย่างสิ้นเชิง การเป็นมนุษย์สากลที่ผูกพันกับถิ่นกำเนิดหรือสังคมที่ตนเคยชินจึงยังเป็นเรื่องห่างไกลและเกิดขึ้นได้กับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกรับวัฒนธรรมสากลมาปรับเข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ จึงเป็นที่มาของแนวคิดว่าด้วยการคิดอย่างสากลและปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสภาวะท้องถิ่น (think globally but act locally)
                   สำหรับประชากรไทยเรานั้น การคิดให้เป็นสากลภายในกรอบบริบทแบบไทยๆเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเหตุผลบางประการ ดังนี้

                             1) กระแสโลกาภิวัตน์มิได้มีจุดกำเนิดจากสังคมไทย แต่แผ่ขยายมาจากสังคมที่มีบริบทแตกต่างออกไป ดังนั้นการรับวิธีคิดและแบบแผนปฏิบัติดังกล่าวมาใช้โดยไม่ประยุกต์ให้เหมาะสมอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ในสังคม

                             2) การปรับตัวของคนไทยให้เป็นไปตามกระแสสากลมีค่าใช้จ่ายแตกต่างไปจากการดำรงชีวิตแบบเดิม เช่น อาหารจานด่วนโดยทั่วปีราคาแพงกว่าข้าวราดแกง ในทำนองเดียวกันกับการใช้อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ประชากรจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงวิธีคิดแบบสากลได้ จึงก่อให้เกิดกลุ่มคนที่มีวันธรรมแตกต่างออกไปภายในสังคมเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยบ้างแล้ว หากความแตกต่างนี้มีมากเกินไปก็จะนำมาสู่การขีดคั่นแบ่งแยกระหว่างคนในสังคมซึ่งอาจนำมาสู่ความรุนแรงภายในประเทศ

                          3) กระแสสากลมาพร้อมกับแนวคิดและค่านิยมใหม่ซึ่งแตกต่างจากค่านิยมเดิมซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและความเป็นไทย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมออกไปโดยสิ้นเชิงอาจมีผลล้มล้างค่านิยมดีๆมีคุณค่า จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการอบรมสั่งสอนคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักและยึดถือค่านิยมไทยไว้พร้อมกันกับการรับหรือดัดแปลงค่านิยมใหม่ให้เหมาะสมสำหรับสังคมไทย

                         จากเหตุผลดังกล่าว การคิดให้เป็นสากลในบริบทแบบไทยจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักคิดและนักการศึกษาของไทยโดยมีประเด็นที่ต้องวิเคราะห์หาข้อสรุปให้ได้ดังนี้

                        1) ค่านิยม แบบแผนชีวิต และธรรมเสนียมการปฏิบัติใดในสังคมไทยยังมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ เช่น ค่านิยมของการประนีประนอม การคารพผู้สูงวัย การดูแลพ่อแม่และผู้มีพระคุณ ความกตัญญู การเอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ต่อผู้อ่อนแอหรือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ฯลฯ  ค่านิยมเหล่านี้หลายเรื่องสอดคล้องกับค่านิยมของคนในสังคมอื่นเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษา หยิบยกมาเป็นเนื้อหาสาระสำคัญเพื่อการเผยแพร่หรือให้การศึกษาแก่คนรุ่นหลัง

                        2) กระแสสากลที่เข้ามีผลอะไรต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนไทยรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดผลดีหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง และควรป้องกันแก้ไขปัญหาหรือส่งเสริมให้เกิดการขยายผลกว้างขวางออกไปอย่างไร

                       3) ประสบการณ์ของการรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆให้บทเรียนอะไรและสังคมไทยควรนำบทเรียนดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและแนวสากลที่กำลังแพร่ขยายเข้ามาในสังคมไทยสามารถส่งผลดีและลดผลกระทบที่เสียหาย

                        4) หน่วยงาน กลุ่มคน ชุมชน หรือบุคคลกลุ่มใดในสังคมสามารถแสดงบทบาทในการส่งเสริมการคิดให้เป็นสากลแบบไทยอย่างได้ผล และสังคมไทยควรส่งเสริมบทบาทของกลุ่มตนหรือบุคคลดังกล่าวอย่างไร
ประเด็นเหล่านี้เป็นคำถามซึ่งผู้รับผิดชอบต่อกิจการสาธารณะจำเป็นต้องขบคิดและดำเนินการในขอบเขตบทบาทอำนาจหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง หากมุ่งให้เกิดผลดีผู้กำหนดนโยบายสาธารณะต้องให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้าง กระบวนการหรือยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสังคมไทยโดยส่วนรวม

                    2. คุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับคนไทยยุคใหม่
                    ดังที่ได้ตระหนักดีอยู่แล้ว ในสังคมยุคใหม่โลกไร้พรมแดนหรือสังคมดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประยุกต์ใช้กันทุกแง่มุมของการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพต่างๆก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรงและกว้างขวางซึ่งกระทบต่อความต้องการกำลังคนยุคใหม่อย่างมาก
ในสังคมเช่นนี้คุณลักษณะจำเป็นสำรับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่ย่อมเปลี่ยนไป คุณลักษณะหรือสมรรถนะ(ทัศนคติ ความรู้ ทักษะ และค่านิยมอื่นๆ) ควรประกอบด้วย

                   1) ทักษะในการใช้เทคโนโลยี ในสังคมที่เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบที่ขาดได้สำหรับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต คนรุ่นใหม่ต้องคุ้นเคยกับเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือขนาดเล็กหรือไอแพคที่ใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น ถ่ายรูป ให้ทิศทาง ส่งต่อข่าวสาร รับข้อมูลข่าวสาร คำนวณ สืบค้นข้อมูล เป็นต้น การใช้งานของคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง คนทำงานยุคใหม่จึงต้องสามารถทำงานกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆได้อย่างคล่องตัว

                    2) ทักษะด้านภาษาและวัฒนธรรม เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนเชื่อมโยงสังคมโลกให้วัฒนธรรมกลุ่มต่างๆเข้ามารู้จักสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ดังประเด็นพหุวัฒนธรรมที่ได้กล่าวแล้ว อันเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและผู้คนข้ามพรมแดนระหว่างประเทศอย่างสะดวก จึงจำเป็นที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรม นิสัยใจคอ และวิธีปฏิบัติระหว่างกันอย่างเหมาะสม เพราะถึงแม้แต่ละคนอาจสามารถใช้วัฒนธรรมสากลและภาษาสากล เช่น ภาษาอังกฤษในการติดต่อระหว่างกัน แต่ความเข้าใจวัฒนธรรมของผู้คนที่เราติดต่อด้วย ย่อมมีส่วนให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่างวัฒนธรรมเป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นความรู้ความสำนึกและความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนเชื้อชาติอื่นที่เราจำเป็นต้องเกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญยิ่ง ทั้งนี้หากสามารถเพิ่มทักษะทางภาษา(นอกเหนือจากภาษาสากล) และวัฒนธรรมได้) ก็จะช่วยให้เครื่องมือสื่อสารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

                      3) ทักษะในการอย่างเป็นระบบ สังคมฐานความรู้นั้นต้องอาศัยพึ่งพาคนที่มีวิสัยทัศน์มีความขัดเจนเรื่องพันธกิจ มีวัตถุประสงค์เป้าหมายและมียุทธศาสตร์การดำเนินการที่เป็นไปได้จริง คุณภาพของมนุษย์ที่จะสามารถแข่งขันได้จึงต้องมีลักษณะสอดคล้องกัน คือ เป็นคนที่พร้อมรับข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยหลักเหตุและผลเพื่อนำไปสู่ทางเลือกที่ดีที่สุดไม่เชื่ออะไรง่ายๆสามารถแยกแยะความจริงและความเท็จได้ ไม่ตัดสินใจดำเนินการด้วยอารมณ์ความรู้สึกหรือความพึงพอใจส่วนตนอีกต่อไป คนยุคใหม่จึงต้องมีความสามารถในการเสาะแสวงหาความรู้ ข้อเท็จจริงและกำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ที่เหมาะสมที่สุด

                     4) ทักษะในการบริหารจัดการ การคิดอย่างเป็นระบบส่งผลไปถึงทักษะจำเป็นอีกประการหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ คือ ทักษะในการบริหารจัดการซึ่งครอบคลุมการจัดวางระบบ การคิดเชิงยุทธศาสตร์การวางแผน ความมุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์ การตัดสินใจ การเป็นผู้นำและการดำเนินการให้เกิดผล โดยสามารถจัดการด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดการทรัพยากรอื่น การจัดการสภาวะแวดล้อม และการออกแบบระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ค่านิยมสำคัญที่มาพร้อมกับความสามารถในการบริหารจัดการ คือ ค่านิยมของการมุ่งมั่นดำเนินการให้เกิดสัมฤทธิผลโดยมีเป้าหมายการดำเนินการที่ขัดเจน มีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ มีการดำเนินการจริงจังเพื่อให้เกิดผลที่พึงประสงค์

                      5) ความสามารถในการประยุกต์ ปรับตัว และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโลกสมัยใหม่ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และบ่อยครั้งโยไม่คาดคิด รุ่นรุ่นใหม่ต้องสามารถเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง มีความสนใจติดตามการเปลี่ยนแปลง สามารถวิเคราะห์คาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง มีความตื่นตัวและมีความพร้อมในการปรับตัว สามารถปรับตัวเองให้รับการเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ให้เหาะสมกับกาลเทศะ พร้อมกันนั้นก็ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา โดยยังยึดหลักการคิดอย่างสากลและปรับสถานการณ์ให้สอดคล้องกับบริบทของไทย

                       สมรรถนะดังกล่าวข้างต้นเป็นสมรรถนะจำเป็นเพื่อการเอาตัวรอดได้อย่างดีในโลกยุคใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองและหน่วยงานการศึกษาหรือแม้แต่หน่วยงานฝึกอบรมพัฒนาต่างๆต้องใส่ใจดูแล ส่งเสริมผลักดันให้เยาวนและประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะหากสมรรถนะดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการยกระดับคุณภาพของประชากรนอกเหนือจากสมรรถนะเฉพาะด้านเพื่อการประกอบอาชีพในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


...................................................................
คำถามท้ายบทเรียน
1.การคิดให้เป็นสากลภายในกรอบบริบทแบบไทยๆเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไรบ้าง จงอธิบายมาอย่างละเอียด
2.คุณลักษณะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง จงอธิบายมาอย่างละเอียด
.......................................................................
แหล่งที่มา :  SO ๒๑๓๘      พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์

โดย : พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ ธีรานันทางกูร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น