ความสัมพันธ์และผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลกและมนุษย์
-ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
กระแสโลกาภิวัตน์นำไปสู่การเกิดขึ้นของระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลก
โดยลดอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาษีอากร ศุลกากร
และโควตาสินค้านำเข้า เป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มความมั่งคั่งและปริมาณของสินค้าและบริการโดยแบ่งความเชี่ยวชาญในการผลิตและบริการร่วมกัน
ผลของกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดเอกภาพของระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
โดยอาศัยการคมนาคมสื่อสาร การขนส่ง การค้า การเคลื่อนย้ายทุน
การลงทุนตรงจากต่างประเทศ การอพยพเคลื่อนย้ายประชากร การใช้เทคโนโลยี และบางครั้งมีการใช้กำลังทหารช่วยสนับสนุนกระบวนการด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจครอบคลุมไปถึงเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเงิน
การค้า การลงทุนจากต่างประเทศ คามช่วยเหลือจากต่างประเทศ
การดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ การทำงานของสถานประกอบการต่างๆทั้งในประเทศ
สถานประกอบการข้ามชาติ และกระทบต่อสภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
หมายความว่า องค์การ กลุ่มบุคคล
หรือผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรงโดยไม่ถูกจำกัดจากกฎระเบียบหรือการแทรกแซงจากอำนาจรัฐของแต่ละประเทศได้มากขึ้น
ประเด็นสำคัญของผลกระทบขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการเงิน
ทุน การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ
ดังเห็นไดว่าการเคลื่อนย้ายแหล่งทุนจำนวนมหาศาลจากการประกอบการในประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งสามารถทำได้ภายในช่วงเวลาสั้นและแทบไม่มีข้อจำกัด
กลุ่มสำคัญที่แสวงหาประโยชน์และรับประโยชน์และผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์ให้ส่งผลรุนแรงขึ้น
คือ กลุ่มผู้ประกอบการข้ามชาติ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น
และมีพลังทางการเงินหนุนหลังมหาศาล
จริงอยู่ระดับและขอบเขตของกลุ่มประกอบการข้ามชาติในการดำเนินการในประเทศอื่นอาจถูกจำกัดจากเงื่อนไขทางกฎหมายและระเบียบกติกาของประเทศที่ตนไปลงทุน
แต่โอกาสที่เปิดจากการลดข้อจำกัดทางธุรกรรมและความสะดวกที่เกิดจากระบบโทรคมนาคมสื่อสารส่งผลให้กิจกรรมข้ามชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต
และการดำเนินงานของกลุ่มประกอบการเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศที่ตนเข้าไปดำเนินการอย่างมากเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การประกอบการของเครือข่ายร้านค้าปลีก เครือข่ายร้านอาหาร
หรือเครือข่ายร้านสินค้าแบรนเมจำนวนมหาศาลซึงเข้าไปทำธุรกรรมในแต่ละประเทศทั่วโลกนับวันแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกขณะ
ถึงแม้กระแสโลกาภิวัตน์จะทำให้คนในประเทศต่างๆโดยเฉพาะประชากรในสังคมกำลังพัฒนาหรือสังคมยากจนได้รับรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมที่เจริญแล้ว
แต่คนเหล่านี้จำนวนน้อยมากได้รับอานิสงส์จากการรับรู้ดังกล่าว
เนื่องจากขาดปัจจัยทางการเงินมาช่วยเกื้อหนุนอันที่จริงแล้วการแลเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในระดับสากลส่งผลให้ประเทศยากจนเป็นฝ่ายเสียเปรียบเนื่องจากต้องส่งสินค้าพื้นบ้าน
เช่น สินค้าทางการเกษตร หัตถกรรม
หรือทรัพยากรธรรมชาติที่มีราคาถูกเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับสินค้าอุตสาหกรรม
อิเล็กทรอนิกส์ หรือทรัพย์สินทางปัญญาในอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรม ในปี ค.ศ.
2007 นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกชื่อ แบรนโค มิลาโนวิค (Branko
Milanovic) (นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย) วิจารณ์ว่าคนในประเทศกำลังพัฒนามีกำลังซื้อลดลงและไม่เท่าเทียมกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังซื้อของคนในประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือ
คนในประเทที่เจริญแล้ว หรือมีฐานะดีแล้วในแต่ละประเทศคือคนกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์
ส่วนคนที่ยากจนหรือด้อยโอกาสก็ยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ไม่แตกต่างจากเดิม
กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลทำให้เกิดความแตกต่างของรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ
หมายความว่า ช่องว่างทางรายได้ทั้งในระดับชาติและระดับบุคคลกลับเพิ่มมากขึ้น
การกระจายรายได้ของโลกขาดความคล่องตัวสม่ำเสมอ
คนที่มีรายได้ต่ำยังมีจำนวนคงที่หรือเพิ่มมากขึ้น
แต่คนมีรายได้สูงจำนวนเท่าเดิมหรือในสัดส่วนที่น้อยกว่าเดิมกลับมีรายได้มากขึ้น
กล่าวคือ ส่วนแบ่งรายได้มิได้รับการกระจายไปยังคนที่มีรายได้ต่ำอย่างที่ควรเป็น
ในปี
ค.ศ. 1992 สหประชาชาติรายงานว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยซึ่งมีจำนวนร้อยละ 20
ของประชากรโลกเป็นพวกที่มีรายได้ร้อยละ 82.7 ของโลกทั้งมด ซึ่งแสดงให้เห็นการกระจายรายได้ของโลกที่ไม่สม่ำเสมออย่างมาก
โดยสรุป
ลาภิวัตน์ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกรรมอย่างสะดวก
จนเกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างคล่องตัวทั่วโลก
ทำให้คนในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาได้รู้จักและเข้าถึงสินค้าแปลกใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตอย่างที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน
แต่สินค้าและบริการเหล่านี้มีราคาแพงเนื่องจากอ้างอิงมาตรฐานราคาสากล
ผลที่เกิดขึ้น
คือ
ความมั่งคั่งถูกกระจุกตัวอยู่กับประเทศที่ร่ำรวยแล้วซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
หรือสั่งสมกำไรจากการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาโดยอาศัยประโยชน์จากค่าแรงที่ต่ำ
ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิต
แรงงานได้ค่าตอแทนต่ำ เกิดความเสียหายต่อสภาวะแวดล้อม สุขภาพอนามัย
และความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆนับวันจะมีมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับในส่วนที่ที่กระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรนั้น
นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านยอมรับว่า
กระแสโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงและพึ่งพิงกับต่างประเทศสูง
ดังเช่น ประเทศไทย กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ได้แก่
1.โครงสร้างการผลิตของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยภาคเกษตรกรรม ได้ลดความสำคัญลงแต่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการมีความสำคัญเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ต้องอาศัยสินค้าทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้น
2.มีการขยายตัวทางด้านการค้าสินค้าต่างๆ กับประเทศต่างๆในโลกอย่างแพร่หลาย
ทั้งทางด้านสินค้าออกและสินค้าเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างสินค้าออกได้เปลี่ยนไปโดยสินค้าออกด้านคอมพิวเตอร์
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
รถยนต์และส่วนประกอบกลับมีความสำคัญและส่งออกได้เป็นมูลค่าสูงกว่าสินค้าเกษตร
แต่ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและพลังงานจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงขึ้น
ส่งผลให้อัตราการพึ่งพาต่างประเทศสูงขึ้น
3.มีการพัฒนาและจัดระบบการบริหารจัดการทางธุรกิจใหม่ โดยมีความพยายามพัฒนาการบริหารโดยมืออาชีพ
การควบคุมคุณภาพ การทบทวนการปฏิบัติงาน ความคิดและสร้างสรรค์การทำงาน
และการตัดสินใจในเชิงรุกและกล้าเผชิญหน้ามากขึ้น
มีการจัดนิทรรศการสินค้าไทยในงานต่างๆและเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยได้มีโอกาสติดต่อกับผู้ซื้อในต่างประเทศโดยตรง
4.ธุรกิจต่างๆในประเทศไทยยังมีขนาดเล็กและขนาดกลาง รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจเอสเอมอี (small and medium
enterprise SMEs) ทั้งในด้านเงินทุน
ความรู้ความสามารถทางด้านการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการ เพื่อให้ธุรกิจ SMEs
มีโอกาสขยายตัวเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
5.
ตลาดการเงิน (financial market) ของไทยมีความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของโลกมากขึ้นโดยตลาดการเงินไทยมีการปรับระบบ
ระเบียบและกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินต่างๆให้สอดคล้องกับระบบสากล
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและพยายามผ่อนคลายการควบคุมด้านการเงิน เพื่อเริ่มเปิดเสรีตลาดเงินในไทยให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาดำเนินกิจการทางการเงินในประเทศไทยได้มากขึ้น
6.การส่งเสริมการลงทุนข้ามชาติ เพื่อให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงโดยการสร้างโรงงานผลิตสินค้าและบริการหรือเข้ามาลงทุนทางอ้อม
ด้วยการเข้ามาลงทุนในตลาดทุน ในธุรกิจต่างๆทั้งทางด้านโทรคมนาคม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ธุรกิจการบิน ธุรกิจเดินเรือ และธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศโดยการลงทุนทางตรง
รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of
Investment) เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนชาวต่างประเทศและชาวไทย
การออกพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งหน่วยงานเพื่อรับรองมาตรฐานสินค้า
7.ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางของข้อมูลข่าวสารความรู้สมัยใหม่
ค่านิยมเรื่องการบริโภค เกิดค่านิยมตามกระแสสากล
ทำให้ธุรกิจต่างๆต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด
8.การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การเงินและการตลาดระหว่างประเทศจะต้องดำเนินงานตามกฎ กติกา
และบทบัญญัติขององค์การระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิก
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก สหภาพยุโรป
กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปค
เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า การทำสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศต่อประเทศ
โลกภิวัตน์เข้ามาพร้อมกับกระแสทุนนิยม
ในอดีตประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขายในเอเชียตะวันอกเฉียงใต้และเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่
1 (พ.ศ. 2504-2509) ที่เริ่มเน้นการผลิตแบบอุตสาหกรรม
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาชาติ ระบบทุนนิยมเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย
เกิดการแสวงหากำไรของนายทุนให้ได้มากที่สุด โดยใช้ต้นทุนการผลิตต่ำสุด เมื่อจุดเริ่มต้นในการแสวงหากำไรดังกล่าวกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงได้ก่อให้เกิดปัญหาติดตามมาหลายประการที่สำคัญได้แก่
1.ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ความเสื่อมโทรมของดินที่ใช้มากและใช้ไม่ถูกวิธี
ความเสื่อมเสริมของป่าชายเลนจากการเลี้ยงกุ้ง การปล่อยของเสียลงในแม่น้ำลำคลอง
เนื่องมาจากความต้องการขยายกำลังการผลิตสนองความต้องการของตลาด
ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปอย่างรวดเร็ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน
ปัญหามหาอุทกภัยน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 จำนวนถึง 54 จังหวัด นับว่าเป็นปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย
2.ในยุคโลกาภิวัตน์ประเทศไทย ในบางช่วงความผันผวนของเศรษฐกิจส่งผลให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันและเกิดปัญหาเศรษฐกิจซบเซา
เช่น ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2540
ประเทศไทยเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจหลายประการได้แก่
ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้สูงขึ้น
ปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดวิกฤตอย่างมาก ดัชนีราคาในตลาดหุ้นลดลง
เศรษฐกิจตกต่ำ สถาบันการเงินหลายแห่งต้องถูกปิดกิจการ
รวมทั้งมีการโจมตีค่าเงินบาทของนักเก็งกำไรต่างชาติเป็นจำนวนมาก
ปัญหาเศรษฐกิจของไทยยังลุกลามไปยังประเทศในแถบเอเชียอีกหลายประเทศ ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนต้องใช้เวลาในการแก้ไขหลายปี
3.โลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงสูง
เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมักก่อให้เกิดการว่างงาน
ประชาชนขาดรายได้จนเกิดปัญหาการโจรกรรม ปัญหาสังคมติดตามมาอย่างมาก
4.ในระบบทุนนิยมตามกระแสเศรษฐกิจ
นายทุนดำเนินกิจกรรมการผลิตก็พอต้องการให้ได้กำไรสูงสุด
ดังนั้นจึงพยายามที่จะจ่ายค่าจ้างแรงงานให้ต่ำเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำหรือขายสินค้าที่ราคาสูงจนแรงงานและผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและก่อให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อคามเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย
5.ประเทศไทยยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีน้อย
ประกอบกับการวิจัยและพัฒนายังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนา
ทำให้ประเทศไทยต้องซื้อเครื่องจักรกลอุปกรณ์และเทคโนโลยีอื่นๆจากต่างประเทศทำให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพา
ขณะเดียวกันการซื้อสินค้าและเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากๆทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
6.ปัญหาการเลียบแบบการบริโภค
และภาวการณ์แข่งขันสูงขึ้น
ราคาสินค้าต่ำลงโยเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการในตลาดโลกสูง และสินค้าที่ประเทศจีน
เม็กซิโก และประเทศใหม่ๆหลายประเทศสามารถผลิตได้
อันเนื่องมาจากข้อได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูก ความรู้
ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมและผลิตภาพที่สูงของประเทศเหล่านั้น
ทำให้เกิดปัญหาดุลการค้าของไทยขาดดุลมากยิ่งขึ้น
7.ปัญหาการว่างงานเนืองจากมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ประหยัดแรงงานเข้ามาใช้
หรือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แทนแรงงาน ทำให้แรงงานในประเทศเกิดการว่างงาน
ขาดรายได้จนอาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
.................................................................................
คำถามท้ายบทเรียน
1.กระแสโลกาภิวัตน์นำไปสู่การเกิดขึ้นของระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกอย่างไรบ้าง
จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
2.กระแสโลกภิวัตน์มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง
จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
------------------------------------------------------
แหล่งที่มา :
SO ๒๑๓๘
พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์
โดย : พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ
ธีรานันทางกูร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น