วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

10. ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต


 ความสัมพันธ์และผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลกและมนุษย์



ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

                      โลาภิวัตน์ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ค่านิยมทางสังคม ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของประชากรทั่วโลกมากขึ้นทุกที
                   ผลกระทบสำคัญประการหนึ่งที่เกิดแล้วในหลายประเทศ คือ ผลกระทบต่อสวัสดิการของประชาชน กล่าวคือรัฐในสังคมโลกจำนวนมากยังเห็นความจำเป็นและตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐในการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนซึ่งกำลังต้องการมากขึ้นทุกที ในขณะที่องค์การระดับโลกก็กดดันให้รัฐต้องลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการนี้ลงทุกขณะซึ่งส่งผลให้รัฐจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายของรัฐด้านสวัสดิการลง ดังปรากฏว่าประเทศยุโรปหลายประเทศซึ่งเคยเผชิญปัญหางบประมาณที่ปิดหีบไม่ลงอันเนื่องจากกิจการสวัสดิการได้พยายามปรับโครงสร้างการให้สวัสดิการแก่ประชาชนของตนเสียใหม่ด้วยวิธีการหลากหลายเป็นต้นว่า ปล่อยการดำเนินการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เอกชนรับไปดำเนินการเอง โอนภาระงานด้านสวัสดิการบางเรื่องให้เอกชนรับไปดำเนินการแทน เพิ่มค่าธรรมเนียมการให้บริการของรัฐ จำกัดการขอสวัสดิการจากรัฐลดสวัสดิการลงบางเรื่อง ลดประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้รับ ใช้รูปแบบวิธีการบริหารใหม่ๆที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดบริการปกติซึ่งรัฐเคยดำเนินการแต่ผู้เดียว  เป็นต้น

                    สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเองก็ต้องพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการภาครัฐลงตามเงื่อนไขการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ดังตัวอย่างของการลดเงินช่วยเหลือสนับสนุนด้านอาหาร ลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและสุขอนามัย ยกงานดูแลกิจการสาธารณะบางเรื่องให้เอกชนดำเนินการแทนรัฐรวม ทั้งลดการปกป้องตลาดแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการของรัฐโดยถือหลักว่าการมีรัฐบาลที่เล็กลง มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่ำ และมีการบริหารจัดการที่ใช้กำลังคนและทรัพยากรลดลงเท่าที่จำเป็นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลักดังกล่าวนี้จากประสบการณ์พบว่าไม่เป็นจริงเสมอไปดังรายงานของธนาคารโลก พ.ศ. 1999 ที่ว่า “บางประเทศทำตามนโยบายเปิดเสรีและยกงานให้เอกชนทำกันไป แต่เศรษฐกิจกลับไม่โตอย่างที่คาด แต่บางประเทศที่เข้าแทรกแซงตลาดอย่างหนักกลับเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (“World Bank, p. 16) ในด้านวัฒนธรรมซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องค่านิยม ทัศนคติ  ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลอย่างมากในหลายแง่มุมโดยได้นำวิถีวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติในประเทศหนึ่งไปส่งต่อให้คนในประเทศอื่นทำตาม การส่งต่อนี้เป็นไปผ่านการค้าการท่องเที่ยว กีฬา วรรณกรรม เพลงแฟชั่น สื่อมวลชน อินเตอร์เน็ตและอื่นๆ ตามทฤษฎีแล้วทุกวัฒนธรรมอาจส่งผลให้คนที่ถือวัฒนธรรมแหล่งอื่นๆลอกเลียนและยึดปฏิบัติได้ และความเป็นจริงวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วไปหรือวัฒนธรรมอเมริกันโดยเฉพาะเป็นวัฒนธรรมแบบอย่างที่สังคมอื่นรับไปปฏิบัติ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามประเทศและการหลั่งไหลของประชากรอย่างประเทศหนึ่งไปประเทศอื่นก่อให้เกิดสังคมที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมหลากหลายที่เรียกว่าสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งหลายประเทศยอมรับความจริงข้อนี้ อย่างเช่น ออสเตรเลียประกาศตัวเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 อันเนื่องมาจากการหลั่งไหลเข้ามาอาศัยในประเทศโดยคนจากทวีปเอเชียและชนพื้นเมืองเดิมที่ไม่สามารถผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมออสเตรเลียได้ ประเทศแคนาดาถึงแม้ไม่ประกาศตนแบบออสเตรเลียแต่ก็เผชิญปัญหาเดียวกัน สำหรับสหราชอาณาจักรได้จัดเรื่องของพหุวัฒนธรรมเป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากมีคนจากเอเชียใต้และแคริบเบียนหลั่งไหลเข้าไปอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่สามารถผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมอังกฤษได้

                   สังคมพหุวัฒนธรรมหมายถึงสังคมที่มีกลุ่มประชากรที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นอาศัยอยู่อย่างน้อย 2 กลุ่ม ในสังคมเช่นนี้ประชากรจะสามารถมีชีวิตร่วมกันได้อย่างสันติสุขก็ต่อเมื่อมีความสามารถในภาระในการเข้าใจ ยอมรับและเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมของตนเอง แต่หากปรับตัวเข้ากันไม่ได้ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้คน

มี 4 ประเด็นที่นักคิดจากสำนักต่างๆนำเสนอและจอร์ชสรุปไว้ (George, p. 22-23) ต่อไปนี้

                   1) นักคิดบางคนเห็นว่าค่านิยมบริโภคนิยมแบบอเมริกันน่าจะแรงพอที่จะสร้างวัฒนธรรมโลกที่ผสมผสานกลมกลืนกันได้

                 2) นักคิดฝ่ายซ้ายเห็นว่าการขยายวัฒนธรรมนั้นคือระบอบจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมซึ่งบรรษัทข้ามชาติเป็นตัวการผลักดัน แต่คนเหล่านี้ยังไม่เห็นหนทางจะต่อต้านวัฒนธรรมดังกล่าว

                      3) นักคิดบางคนเห็นว่าการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันผ่านภาพยนตร์ แฟชั่น เพลงและการบริโภคจะนำไปสู่การต่อต้านโดยวัฒนธรรมดั้งเดิมจนทำให้เกิดการปฏิเสธวัฒนธรรมอเมริกันและสร้างความเข้มแข็งให้แก่วัฒนธรรมชาติ ดังกรณีของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงซึ่งมีจุดยืนเช่นนี้

                  4) นักวิชาการบางคนเห็นว่าวัฒนธรรมประจำชาติและประชากรแต่ละแห่งไม่ได้ดูดซับแก่นวัฒนธรรมตะวันตกง่ายอย่างที่หลายคนคิดเอา คนเหล่านี้อาจบริโภคอาหารจานด่วน ใส่รองเท้าผ้าใบหรือกางเกงยีนส์ตะวันตกแต่ไม่ได้หมายความว่าจะยอมรับค่านิยมครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างเพศแบบตะวันตก วัฒนธรรมแห่งชาติอาจรับวัฒนธรรมตะวันตกแต่ไม่ได้หมายความว่าจะรับทั้งหมดอาจมีการดัดแปลงบ้างโดยยังสามารถรักษาวัฒนธรรมประจำชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของตน

                       แนวคิดมากหลายนี้เมื่อนำไปวิเคราะห์แต่ละประเทศย่อมมีทั้งที่ถูกหรือผิดซึ่งขึ้นกับความพร้อมและระดับการตอบรับกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเกิดขึ้นไม่เที่ยวไม่เท่าเทียมกับในแต่ละประเทศหรือแม้แต่สังคมย่อยในประเทศต่างๆ
                 ในเวทีระหว่างประเทศ กระแสโลกาภิวัตน์ได้รับการผลักดันจากตัวแสดงระหว่างประเทศหรือแม้แต่รัฐชาติในหลายแง่มุมเพื่อผลักดันค่านิยมหรือธรรมเนียมปฏิบัติสากลที่แตกต่างไปจากวิถีปฏิบัติในแต่ละประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสาระอันเป็นที่สนใจระดับโลก เช่น สภาวะสิ่งแวดล้อม อาชญากรรมและการก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การบังคับแรงงาน โรคเอดส์ ความรุนแรงในครอบครัว หรือการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์(ดูรายละเอียดได้จาก George, บทที่-10)

                ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่เกี่ยวพันกับปัญหาซึ่งแต่เดิมถือเป็นเรื่องจำกัดในแต่ละประเทศแต่ปัจจุบันประเด็นปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ความยากจน อาชญากรรม ผู้อพยพย้ายถิ่น และปัญหาโรคระบาดดังจะกล่าวต่อไปนี้

                  1) สภาวะแวดล้อม ปรากฏการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบของโลกาภิวัตน์ได้แก่ปรากฏการณ์สภาวะแวดล้อม เรื่องราวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมถือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศหรือเป็นปัญหาท้องถิ่นซึ่งเป็นภาระรับผิดชอบของแต่ละประเทศแต่ปัจจุบันนานาชาติได้ตระหนักแล้วว่าสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสากลซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและประชากรในประเทศอื่นๆอีกมาก จึงไม่ใช่เป็นเพียงภาระของแต่ละประเทศซึ่งเป็นต้นตอปัญหาเหล่านั้นที่จะดูแล แต่เป็นเรื่องที่ประเทศอื่นซึ่งได้รับผลกระทบมีสิทธิเข้ามาดูแลเพื่อปกป้องประโยชน์ของตนและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องก็มีทั้งสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบและพันธะในการเข้าแทรกแซงด้วย
                    อาจยกกรณีปัญหาสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
-โรงงานอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักรก่อให้เกิดฝนกรด (acid rain) ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
-การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global warming)  ซึ่งเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอันนำไปสู่การแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ภัยพิบัติธรรมชาติ และการสูญเสียทรัพยากรในทะเลและชายฝั่งทั่วโลก

                     2) ความยากจน ปัญหาความยากจนได้กลายเป็นปัญหาสากลซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆทั่วโลก ความยากจนเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆอีกหลายประการ ได้แก่ ปัญหาทุโภชนาการ ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาสุขอนามัย ปัญหาการศึกษา ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความรุนแรงในครัวเรือนและสังคม ปัญหาการใช้อะไรงานเด็ก ปัญหาโสเภณี ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งเดิมถือเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องรับผิดชอบดูแลกันเองแต่ในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาความยากจนได้ส่งผลไปกระทบสังคมของประเทศอื่น เช่น การอพยพลี้ภัยของคนยากจนจากต่างประเทศเข้าไปในประเทศอื่น การเกิดองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อการค้ามนุษย์ การเกิดองค์การก่อการร้าย เป็นต้น จึงกลายเป็นเรื่องที่ชาติต่างๆต้องเข้ามาสนใจดูแลร่วมกันโดยมีความพยายามส่งเสริมให้เกิดรายได้และการกินดีอยู่ดีทั้งด้วยการแก้ปัญหาระยะระยะสั้นโครงการช่วยเหลือต่างๆจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ และระยะยาวด้วยการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่ประสบปัญหา
                        ข้อสังเกต คือ ถึงแม้โลกาภิวัฒน์จะมีส่วนช่วยให้เกิดความพยายามยกระดับสวัสดิการทางสังคมและแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างน้อยโดยเทียบเคียงกับมาตรฐานการดำรงชีวิตยุคใหม่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมต่างๆทั่วโลก แต่ผลที่เกิดนั้นไม่เท่าเทียมกันขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศโดยประเทศพัฒนาน้อยกว่าย่อมได้ประโยชน์น้อยกว่าและผลการพัฒนาทำให้ช่องว่างทางรายได้ในประเทศด้อยพัฒนาเพิ่มขึ้นแต่ที่สำคัญคือโลกาภิวัฒน์กระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศและองค์การระหว่างประเทศได้ใช้ความพยายามแก้ปัญหาความยากจนร่วมกันมากกว่าเดิม

                 3) อาชญากรรม ปัญหาอาชญากรรมและการก่อการร้ายกลายเป็นปัญหาสากลที่ก่อความเสียหายให้แก่สังคมต่างๆ ทั้งนี้โลกาภิวัตน์มีส่วนส่งเสริมให้กระบวนการอาชญากรรม (ยาเสพติด อาวุธ สินค้าเถื่อน การค้าเด็กและสตรี เป็นต้น) ความรุนแรงและขบวนการก่อการร้ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศสามารถปฏิบัติการได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น ในเรื่องการฟอกเงิน การโอนเงิน หรือการส่งข้อมูลข่าวสารในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ในขณะเดียวกันฝ่ายที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามก็อาศัยประโยชน์จากพัฒนาการยุคใหม่และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสนับสนุนในการกำจัดอาชญากรเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โลกาภิวัตน์ทำให้ความต้องการยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ค้ายาสูงจนเกิดกระบวนการและเครือข่ายองค์การความร่วมมือที่สานเชื่อมกระบวนการผลิต(โคเคนในประเทศละตินอเมริกา) การแปรรูป การส่งยา การค้าปลีก การประสานติดต่อให้สินบนเพื่อความสะดวกผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศต่างๆและการส่งเงินระหว่างประเทศ แต่สังคมโลกก็ตอบโต้ด้วยการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดหลายฉบับซึ่งเกิดประโยชน์ต่อประเทศผู้เสพยาเป็นสำคัญ

                 4) โรคระบาด ไวรัสเชื้อ HIV ที่ทำลายภูมิคุ้มกัน(เอดส์)และโรคระบาดอื่นๆเช่นไวรัสหวัดนกซึ่งเริ่มจากบางสังคมแต่ส่งผลติดต่อกระจายไปทั่วโลกเกิดจากความสะดวกง่ายดายในการเดินทางติดต่อระหว่างกันและปริมาณประชากรที่เดินทางเข้าออกประเทศจำนวนมหาศาล ในกรณีโรคเอดส์ต้นกำเนิดโรคเริ่มจากประเทศในทวีปแอฟริกาแล้วขยายไปทุกทวีปทั่วโลกจนในปีค.ศ. 2001 ผู้ติดเชื้อในทวีปแอฟริกามีจำนวน 28.5 ล้านคนส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆมีถึง 11 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อในเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ถึง 5.6 ล้านคน ส่งผลให้ต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศเกิดเครือข่ายวิชาชีพที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อหนุนกันข้ามขอบเขตพรมแดน ตัวอย่างเช่น สมาคมกลุ่มประเทศอาเซียนได้วางแผนร่วมกันระดับภูมิภาคเพื่อจัดการกับกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่เป็นตัวการแพร่เชื้ออันได้แก่กลุ่มที่มีชีวิตอยู่กับการเดินทางเป็นประจำ เช่น ชาวประมงและคนขับรถส่งสินค้า นอกจากนี้องค์การเอกชนอย่างเช่นกลุ่มความร่วมมือธุรกิจเพื่อเผชิญปัญหาโรคเอดส์ (The Global Business Coalition on HIV/ AIDS)  อันประกอบด้วยบริษัทระหว่างประเทศ 75 บริษัท ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2001 และทำงานร่วมกับองค์กรของสหประชาชาติ องค์การให้ความช่วยเหลือ และองค์การเอกชนอื่น หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมมือกันใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงแนวทางเผชิญปัญหาของโลก นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนแก้ปัญหาโดยตรงอย่างเช่นบริษัทโฟล์คสวาเกนในบราซิลได้จัดตั้งโครงการดูแลปัญหาเอดส์ในปี 1996 สวนกลุ่มประกอบการองค์การเอกชนก็ร่วมมือกันกดดันบริษัทยาให้ผลิตยาจำหน่ายแก่คนในประเทศยากจนและราคาถูกลงจึงเป็นที่ชัดเจนว่าประเด็นโรคระบาดเป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ไขร่วมกันด้วยระบบสากลและมิใช่ปัญหาภายในประเทศอีกต่อไป

                    5) การอพยพย้ายถิ่น เรื่องราวของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศที่เจริญแล้วอันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากสถานที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมลำบากยากแค้นเพื่อหางานหรือตั้งหลักแหล่งในประเทศที่เจริญกว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายเป็นวิกฤตการณ์การอพยพซึ่งเริ่มเห็นชัดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 โดยสำนักงานประชากรขององค์การสหประชาชาติเผยประมาณไว้ว่าใน ค.ศ.2000 มีคนอาศัยในประเทศอื่นที่แตกต่างจากประเทศที่ตนเกิดเกินกว่าหนึ่งปีเป็นอย่างน้อยจำนวน 175 ล้านคน คนพวกนี้มีทั้งที่เข้าประเทศโดยถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายและมีการแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอพยพที่สมัครใจ (ผู้อพยพชั่วคราว ผู้อพยพที่มีทักษะและนักธุรกิจ ผู้อพยพถาวร ผู้อพยพที่ไม่มีหลักฐาน ผู้อพยพเพื่อสมทบกับครอบครัว เป็นต้น) กับผู้อพยพที่ถูกบังคับ (กลุ่มที่ถูกหลอกหรือบังคับนำเข้าประเทศหรือกลุ่มลี้ภัย)
                  ผลของการอพยพทำให้คนในประเทศที่เจริญแล้วเกิดความไม่พอใจและวิตกกังวลกับการที่มีคนรูปร่างหน้าตาผิวพรรณภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างจากตัวเองอย่างชัดเจนย้ายเข้ามาพำนักอาศัยและหารายได้ในสังคมของตนก่อให้เกิดความมารังเกียจว่าคนเหล่านี้จะมาทำลายค่านิยมและวัฒนธรรมอันดี แย่งงานของพวกเขาหรือเข้ามาก่อปัญหาอาชญากรรมหรือการก่อการร้ายในประเทศ


..............................................................
คำถามท้ายบทเรียน
1.สังคมพหุวัฒนธรรมหมายถึงอะไร จงอธิบาย
2.ผลของกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อคุณภาพชีวิตมีอะไรบ้าง จงอธิบาย

------------------------------------------------------

หล่งที่มา :  SO ๒๑๓๘      พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์

โดย : พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ ธีรานันทางกูร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น