วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

9. ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม




ความสัมพันธ์และผลกระทบของลาภิวัตน์ต่อสังคมโลกและมนุษย์


-ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม

                  ในขณะที่วิถีชีวิต ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มคนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคต่างๆในสังคมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ความแตกต่างกันในเรื่องของความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ วิธีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในแต่ละประเทศก็ยิ่งชัดเจนขึ้นกว่าความแตกต่างระหว่างสังคมในประเทศ อย่างไรก็ดีหากลักษณะเฉพาะของสังคมหนึ่งมีผู้รับรู้ ลอกเลียน หรือประยุกต์โดยบุคคลหรือกลุ่มคนในสังคมอื่น ความแตกต่างดังกล่าวย่อมลดลงและอาจเกิดการผสมกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมมาขึ้น ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนสำคัญในการสร้างการยอมรับและความผสมกลมกลืนอย่างมาก

                      ในสังคมปัจจุบันซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นสังคมไร้พรมแดนหรือหมู่บ้านโลก ระดับของการเรียนรู้ระหว่างกันเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย จากผลของการพัฒนาด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมประชากรโลกมีโอกาสรับรู้ ลอกเลียนหรือประยุกต์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในสังคมอื่นที่ไกลโพ้นอย่างกว้างขวางขึ้นกว่าที่เคยเป็น
ข้อที่น่าสังเกต คือ การรับวัฒนธรรมนั้นมักมีลักษณะของการเลือกรับวัฒนธรรมของประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงกว่าหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งวัฒนธรรมของประเทศร่ำรวยด้านวัตถุมักกระจายไปสู่ประเทศยากจนกว่า ในขณะที่วัฒนธรรมของประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางวัตถุต่ำกว่ามีโอกาสน้อยกว่าที่จะเป็นที่ยอมรับโดยประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้ว จนถึงกับมีการกล่าวถึงการพัฒนาไปสู่สังคมแบบตะวันตก(Westernization) หรือการพัฒนาให้เป็นแบบอเมริกัน(Americanization) มากว่าที่จะกล่าวถึงการพัฒนาสู่สังคมตะวันออก

                     ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ วัฒนธรรมทางวัตถุมีแนวโน้มที่จะกระจายออกไปง่ายกว่าวัฒนธรรมทางจิตใจ ดังปรากฏว่าวิถีชีวิตแบบทุนนิยม วัตถุนยม หรือบริโภคนิยมเป็นประเด็นหลักในกระแสโลกาภิวัตน์
อย่างไรก็ดีถึงแม้นักวิจารณ์จะวิพากษ์ว่าโลกาภิวัตน์เป็นต้นเหตุของการกลายเป็นตะวันตกก็ตาม แต่รายงานของยูเนสโกเมื่อ ค.ศ. 2005 ระบุว่าการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเป็นปรากฏการณ์ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะแต่วัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น ใน ค.ศ. 2002 สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศส่งออกสินค้าวัฒนธรรมใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ระหว่าง ค.ศ. 1994 ถึง ค.ศ. 2002 ทั้งอเมริกาเหนือและกลุ่มประเทศในประชาคมยุโรปต่างมีอัตราการส่งออกวัฒนธรรมที่ลดลง ในขณะที่การส่งออกวัฒนธรรมของเอเชียเริ่มขยายตัวมากขึ้น
การรับหรือแม้แต่การเลือกรับวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมอื่นที่แตกต่างไปจากค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมตนเองมีทั้งโอกาสและข้อจำกัด กล่าวคือ

ในแง่ของข้อจำกัด มีตัวอย่างสำคัญ ได้แก่

                           1) เกิดการครอบงำโดยประเทศที่เหนือกว่าโดยส่งทอดวัฒนธรรมที่สะท้อนพื้นฐานและบริบทของสังคมที่เป็นต้นกำเนิด ในกรณีนี้เนื่องจากสังคมต้นกำเนิดส่วนใหญ่เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่เน้นลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ในสังคมผู้รับนั้นกลุ่มประชากรที่สามารถรับวัฒนธรรมได้ คือ กลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง ส่วนคนที่มีฐานะด้อยกว่าขาดปัจจัยเกื้อหนุนที่จะช่วยให้สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตดังกล่าวได้ ผลคือความเหลือมล้ำทางสังคมยิ่งขยายกว้างออกไปโดยกลุ่มคนที่ไม่สามารถรับประโยชน์ได้จะเกิดความผิดหวัง (frustration)อันเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง การกดขี่เอาเปรียบ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายสังคม

                        2) เกิดความเสื่อมสูญหรือล่มสลายของวัฒนธรรมถิ่นหรืวัฒนธรรมพื้นบ้าน เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมสากลซึ่งแพร่หลายผ่านสื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ในขณะที่โอกาสการอบรมบ่มเพาะนิสัยทางสังคมโยคนรุ่นเก่าลดลงเนื่องจากหลายประเทศจัดระบบการศึกษาสากลอย่างเป็นทางการและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องรับภาระในการทำมาหากินเลี้ยงชีวิตในสังคมเมือง ส่วนคนเฒ่าคนแก่ส่วนใหญ่ยังคงอาศัยในพื้นที่ชนบทหรืออาศัยแยกจากลูกหลานจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว ผลคือการเสื่อมสลายของวัฒนธรรมดั้งเดิมหรืวัฒนธรรมถิ่น

                      3) เกิดผลกระทบต่อประชากร ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้มีหลายลักษณะ ขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ ตัวอย่างได้แก่ การสูญเสียกำลังคนระดับสมองที่เรียกว่าสมองไหลหรือแรงงานฝีมือจากประเทศที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปยังประเทศที่เจริญกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า การสูญเสียนี้ก่อให้เกิดการขาดแคลนนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ หรืนักคิด นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักวางแผน ซึ่งจะสามารถผลักดันสังคมให้เผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างได้ผล อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานต่างด้าว คนอพยพ หรือผู้ลี้ภัยซึ่งเข้ามาแสวงหาโอกาสในประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะคนเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บางคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการประกอบอาชีพโสเภณีหรือเขาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมมิจฉาชีพต่างๆ

                     4) การจ้างงานภายนอก (outsourcing) โลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานและเอื้อให้เกิดระบบการจ้างงานจากภายนอก ซึ่งเดิมมักเข้าใจว่าจำกัดเฉพาะการจ้างงานนอกภาคราชการ หรือนอกสถานประกอบการ แต่ในสังคมใหม่การจ้างงานภายนอกครอบคลุมไปถึงการจ้างงานนอกประเทศ ตัวอย่างเช่น ระบบการผลิตครบวงจรซึ่งมีสายการผลิตแบบเครือข่ายที่ครอบคลุมไปหลายประเทศ (กรณีการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)การจ้างคนในประเทศอื่นในการพัฒนาซอฟท์แวร์ หรือแม้แต่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานประกอบการซึ่งมีที่ตั้งในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้สะดวกเนื่องจากระบบโทรคมนาคมสื่อสารเอื้อประโยชน์ ผลคือคนในประเทศที่มีระดับความสามารถต่ำกว่าหรือมีระบบที่เอื้อประโยชน์น้อยกว่าต้องตกงานเพราะไม่สามารถแข่งขันในระดับสากล ผลต่อเนื่องคือสหภาพแรงงานถูกบั่นทอนความสามารถในการดูแลปกป้องสมาชิกของตน

                         5) แรงกดดันให้เร่งเปลี่ยนแปลง ข้อกำกัดสำคัญ คือ ประเทศต่างๆต้องเผชิญปัญหาต่างๆที่ต้องปฏิรูปหรือเร่งรัดแก้ปัญหา อันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ ในกรณีนี้ ความสามารถในการป้องกัน เผชิญปัญหา หรือแก้ไขปัญหาย่อมขึ้นกับความจริงใจ ความเข้าใจ และความพร้อมของผู้รับผิดชอบในการดูแลสังคมนั้นๆ เพราะหากไม่ดำเนินการอย่างเหมาะสมปัญหาที่เกิดขึ้นทุกด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จะยิ่งลุกลามใหญ่โตจนแก้ไขยากและส่งผลต่อความทุกข์สุขของคนในสังคมนั้นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในแง่ข้อโอกาสนั้น มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่

1) โอกาสจากการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง เป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาค้นคว้า และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อนและหากประเทศใดสามารถพัฒนาความรู้ได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างดี

                            2) ประโยชน์จากสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนรูปแบบวิธีการประกอบอาชีพหรือการดำเนินการต่างๆในแทบทุกด้านของสังคมย่อมเป็นโอกาสให้แต่ละสังคมสามารถรับไปประยุกต์ปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมของตน ดังนั้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมทำงานกับสถานประกอบการและผู้ลงทุนจากต่างประเทศตลอดจนการมีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้คนจากต่างถิ่น ย่อมเป็นการให้ข้อมูลสำคัญเพื่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาสังคมอย่างสำคัญ

                          3) รู้จักตัวเอง และตระหนักในสภาพการเปลี่ยนแปลงซึ่งกระทบตัวตัวเอง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านระบบการสื่อสารสมัยใหม่ รวมถึงการได้พบปะผู้คนจากสังคมอื่น ถือเป็นโอกาสที่คนในแต่ละประเทศจะได้เปรียบเทียบสถานะของตนกับผู้อื่น และเข้าใจถึงผลของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวอันส่งผลกระทบต่อสังคมของตนเอง ความรู้ความเข้าใจเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตื่นตัว เตรียมพร้อมและปรับตัวเองในด้านต่างๆเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

                         4) รับรู้ค่านิยม ทัศนคติ และสมรรถนะที่จำเป็นในการพัฒนาสังคม จากการเรียนรู้จากผู้อื่น ผู้ที่สนใจกระแสโลกาภิวัตน์ย่อมเข้าใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการเผชิญสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมของตนเอง แต่ต้องเขาใจวิธีคิด ทัศนคติและสมรรถนะใหม่ๆที่แตกต่างไปจากความเคยชินแต่เดิม เพราะหากไม่เข้าใจประเด็นซึ่งเป็นลักษณะนามธรรมอย่างนี้แล้ว การลอกเลียนหรือรับวิธีปฏิบัติจากภายนอกก็จะมีลักษณะการลอกรูปแบบวิธีการเอามาใช้โดยปราศจากความเข้าใจหรือการปรับแปลงให้เหมาะสมกับสังคมของตน

                         5) การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งที่มีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด หมายความว่า แต่ละประเทศล้วนมีทรัพยากรมีค่าอันเป็นที่ต้องการของประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำมัน ผลิตผลการเกษตร อัญมณี ฯลฯ” สถานที่พักผ่อนท่องเที่ยว (แหล่งพักผ่อนตามธรรมชาติหรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์) บริการเฉพาะด้าน (สุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล ที่พักอาศัยสำหรับคนชรา ฯลฯ) ซึ่งหากตระหนักถึงความต้องการดังกล่าว ก็สามารถผลิตหรือพัฒนาให้เกิดจากมูลค่า อันเป็นการเพิ่มประโยชน์ในเชิงรายได้เพื่อการพัฒนาหรือการกินดีอยู่ดีของคนในประเทศมากขึ้น

                    การที่แต่ละสังคมจะใช้โอกาสหรือเผชิญแรงกดดันท้าทายได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นกับคุณภาพของผู้นำและคนในแต่ละสังคม ในแง่โครงสร้างแต่ละประเทศเกิดความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบที่เป็นอยู่ทุกด้านอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ในลักษณะที่เรียกว่าการปฏิรูปไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการศึกษา คำว่าการปฏิรูปนั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบ รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการในการดำเนินการที่เป็นอยู่อย่างรวดเร็วและเกิดผลจริง อย่างไรก็ดีการปฏิรูปดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของการลอกเลียนเอาอย่างประเทศอื่น ถึงแม้ว่าจะอาศัยรูปแบบวิธีการของประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปมาเป็นตัวอย่างก็ตาม แต่จำเป็นต้องปรับปรุงดัดแปลงให้เหมาะสมกับบริบทและระดับความพร้อมในการดำเนินการของแต่ละสังคม

                       ที่สำคัญคือการปฏิรูปใดๆก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มีความมุ่งมั่นผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและมีความต่อเนื่องในการดำเนินการอย่างจริงจัง มิฉะนั้นก็รังแต่จะได้การเปลี่ยนแปลงเพียงผิวเผยไม่เกิดผลจริงจึงต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และวิธีการคิดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในระดับนโยบายและต้องสามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับในสังคมเข้าใจและร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงจึงเกิดผล


................................................................
คำถามท้ายบทเรียน
1.การรับวัฒนธรรมมักมีลักษณะเป็นอย่างไร จงอธิบาย
2.จงกล่าวถึงโอกาสและข้อจำกัดของการรับวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมว่าแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง ให้อธิบายมาแต่เพียงสังเขปพอเป็นที่เข้าใจ
.....................................................................


แหล่งที่มา :  SO ๒๑๓๘      พลเมืองโลกในกระแสโลกาภิวัตน์

โดย : พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ทองใบ ธีรานันทางกูร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น